หลังจากที่ผมเดินทางกลับมาจากพาราณสี วันแรกของการทำงาน มีคำถามมากมายจากเพื่อนๆ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนเหมือนกับทริปที่ผ่านๆ ทำให้ผมรู้สึกการเดินทาง 3 วัน 2 คืนในทริปนี้ เป็นการเดินทางที่มีคุณค่ามากครั้งนึงที่ได้เดินทางมาสัมผัส กับวัฒนธรรมที่สวยงาม ประเพณี ผู้คน ความเป็นมิตร เพื่อน อาหารการกิน และอีกหลายต่อหลายอย่างที่ผมหาได้จากที่นี่
” คงคามหานที 4,000 ปี ไม่เคยหลับใหล “
ทำความรู้จักพาราณสี
เมืองพาราณสี ตั้งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งรัฐนี้มีประชากรเกือบ 200 ล้านคน ผสมผสานด้วยศาสนา และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นเมืองที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธในอดีต ความรู้สึกของผมตอนที่เตรียมแผนการเดินทาง มีความตื่นเต้นมาก เหมือนเรากำลังเปิดหน้าต่อไปของบทเรียน ที่เรียนมาตั้งแต่เด็ก
เตรียมตัวก่อนเดินทาง
- การเดินทางไปประเทศอินเดีย ต้องมี Visa ซึ่งตอนนี้สามารถยื่นขอวีซ่า ออนไลน์ได้เลย Visa Online(E-Visa) คลิกที่นี่
- ยังไม่มีบินตรงระหว่างกรุงเทพ และพาราณสี จำเป็นต้องไปเปลี่ยนเครื่องที่ นิว เดลี ก่อนต่อไปยังเมืองพาราณสี
- มาตรฐานเวลาอินเดีย GMT+5:30 ช้ากว่าไทย 1.30 ชั่วโมง
- 1 บาท(THB) = 2.1 รูปี(INR) โดยประมาณ
- สนามบินในประเทศอินเดีย อนุญาตเฉพาะผู้ที่เดินทาง เข้ามาภายในตัวอาคารเท่านั้น ญาติ เพื่อน และคนที่ไม่ได้เดินทาง ต้องรออยู่ด้านนอก
- จำเป็นต้องพิมพ์ E-Ticket หรือบันทึกตั๋วในไว้โทรศัพท์ เพราะต้องใช้แสดงให้เจ้าหน้าที่สนามบินดูเวลาเข้าภายในอาคารขาออก (Departure) (ขาเข้าไม่ต้องใช้)
- เวลาผ่านจุด Security หรือจุดตรวจความปลอดภัย ก่อนเดินไปยังเกท ต้องแสดง Boarding Pass ที่เป็นกระดาษทุกครั้ง เพื่อประทับตรา ไม่สามารถใช้ E-Boarding Pass ได้ทุกกรณี
ถ้ากำลังคิดว่า คนเดียวคงไปไม่ได้หรอก …ผมอยากให้ล้มเลิกความคิดนั้นซะ! เพราะ
“คนเดียวก็เที่ยวได้”
บทที่ 1 : ออกเดินทางสู่ประเทศอินเดีย
ทริปนี้ผมเดินทางกับสายการบิน Jet Airways เป็นสายการบินของอินเดีย ที่ครอบคลุมทุกจุดหมายปลายทางในอินเดีย ง่ายต่อการจัดเวลาเดินทาง โดยเคาน์เตอร์เช็คอินอยู่ที่ Row P ***ต้องมาเช็คอินที่เคาน์เตอร์ก่อนออกเดินทางล่วงหน้า 3 ชั่วโมงนะครับ
แผนการเดินทาง
ขาไป : Bangkok(BKK) -> New Delhi(DEL) -> Varanasi(VNS)
ขากลับ : Varanasi(VNS) -> New Delhi(DEL) -> Bangkok(BKK)
*** การเดินทางไปยังพาราณสี เราต้องบินไปต่อเครื่องที่ นิว เดลี ก่อน และจึงบินต่อไปยัง พาราณสี ใช้เวลาประมาณ 4.30 ชั่วโมง ***
เส้นทางกรุงเทพ-นิว เดลี ของสายการบิน Jet Airways ให้บริการด้วยเครื่อง Boeing 737-900ER รองรับผู้โดยสารได้ถึง 184 คน แบ่งเป็น
- Premiere (Business class) 12 ที่นั่ง
- Economy 172 ที่นั่ง
Welcome Drink
เมื่อนั่งประจำที่ลูกเรือจะนำ Welcome Drink มาต้อนรับ มีหนังสือพิมพ์ และนิตยสารให้เลือกอ่านด้วยครับ
Premiere Menu
หลังจาก Welcome Drink ก็จะเป็นเมนูอาหาร พร้อมเครื่องดื่ม ที่ลูกเรือนำมาให้เลือกไปพลาง ๆ ระหว่างรอออกเดินทาง ซึ่งผมเลือก French Toast ไป กับ White Wine และขอกาแฟ 1 ชั่วโมงก่อนเครื่องลง มาลุ้นกันว่าลูกเรือจะลืมไหม
หลังจากที่เครื่องขึ้นแล้ว ได้เวลาอาหาร ลูกเรือจะมาปูโต๊ะอาหารให้ และมาพร้อมกับอาหารจานแรกคือผลไม้ ก่อน main course จะมาผมสั่งอาหารเช้าซีเรียลเพิ่มอีกที่นึง
บริการ Jet Screen
เจ็ท สกรีน คือบริการ In-flight entertainment ผ่าน Wi-Fi สำหรับอุปกรณ์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์พกพาของเราเอง มีทั้งเพลง ภาพยนตร์สากล หรือบอลลี่วูดก็มีให้ดูกันจุใจ ตลอดการเดินทางครับ
สำหรับสินค้าปลอดภาษีก็มีให้บริการเช่นกันนะครับ สามารถสอบถามจากพนักงานได้เลย
กาแฟมาตามนัด 😀
ก่อนงีบก็แอบลุ้นนะ ว่าลูกเรือจะนำกาแฟมาให้ตามที่ตกลงไว้ หรือเปล่า….แต่ 1 ชั่วโมงก่อนเครื่องลงลูกเรือเดินมาปลุกผม พร้อมกับกาแฟหอมๆ ครับ
Landed and Welcome to India
เราใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมงครึ่งโดยประมาณ ก็มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี ประเทศอินเดีย แล้วตรงนี้เรามีเวลาอีก ประมาณ 3 ชั่วโมง ในการต่อเครื่อง ซึ่งกำลังดี ไม่น้อย ไม่มากจนเกินไป ยังพอมีเวลาให้เดินดูอะไรต่าง ๆ แต่ถ้าหิวก็มีร้านอาหารบริเวณชั้นลอยขายอยู่มากมายครับ
ภายในท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี มีประติมากรรม บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เยอะมากอีกแห่งนึง ที่ผมชอบเพราะบอกเล่าวัฒนธรรมของคนอินเดียได้เป็นอย่างดี
อันนี้ไม่เขียนถึงไม่ได้ คือเก้าอี้นอน หน้าเกท
คือปกติหน้าเกทจะมีเก้าอี้ไว้รองรับ ผู้โดยสารทั่วไปเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ที่นี่มีเก้าอี้นอน ประจำหน้าเกทเลย ไม่ต้องเดินไปไหนไกลให้วุ่นวายครับ ผมสังเกต ถึงคนจะเยอะ แต่ไม่วุ่นวายครับ มีระบบการจัดการที่ดีทีเดียว
เดินทางกันต่อจาก New Delhi มุ่งหน้าสู่เมือง Varanasi
บ่าย 2 โมงครึ่ง เราเดินทางกันต่อในเที่ยวบิน 9W 820 สู่เมืองพาราณสี เป้าหมายปลายทางของเราในทริปนี้ ใช้เวลาบินประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งครับ เดินทางด้วยเครื่อง Boeing 737-800 ในชั้น Economy ให้ความสะดวกสบายไม่อึดอัด ส่วนเมนูอาหารมีให้เลือกเป็นเมนูปกติ และแบบมังสวิรัติครับ
Welcome to Varanasi (Lal Bahadur Shastri International Airport )
ใช้เวลาบินเพียงชั่วโมงเศษก็มาถึง เมืองพาราณสีครับ ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ผมแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ตามนี้ครับ
- นั่งรถเข้าเมือง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จริง ๆ ระยะทางไม่ไกลครับ แต่ว่าสภาพถนน และการจราจรค่อนข้างติดขัด ไม่สามารถทำความเร็วได้
- เช็คอิน และเอากระเป๋าไปเก็บที่พัก
- ไปดูพิธีบูชาแม่น้ำคงคา หรืออารตีไฟ ประมาณ 6 โมงเย็น
เดินทางเข้าเมือง
จากสนามบินเราต้องนั่งรถเข้าเมืองระยะทาง 25 กิโลเมตรโดยประมาณ สามารถใช้บริการรถแท็กซี่ของสนามบินได้เลย ราคาอยู่ที่ 900 รูปี เป็นราคาที่มีการขึ้นป้ายชัดเจนเลย แต่ถ้าอยากได้ถูกหน่อย สามารถเดินออกมานอกอาคารจะมีคนเดินมาเสนอราคาเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่ 500 รูปี ขึ้นไปครับ หรือจะให้ทางที่พักของเราจัดหารถมารับก็ได้ราคาก็จะถูกลงไปอีก
ถึงที่พัก Mari Gold Guest House
Mari Gold Guest House
ตอนที่หาข้อมูลมีนักท่องเที่ยวหลายคนแนะนำ และให้คะแนนที่พักอยู่ในระดับดีมาก และราคาไม่แพง 2 คืนราคาอยู่ที่ 1,400 รูปี หรือเฉลี่ยตกคืนละ 350 บาทเท่านั้น และจากที่เดินดู ผมว่าข้อดีคือตั้งอยู่ในย่านที่นักท่องเที่ยวพลุกพล่าน ร้านอาหารอยู่ไม่ไกล มีให้เลือกหลากหลาย …หลากหลายจริง ๆ นะ และที่สำคัญคือ จาก Guest house เดินไปริมแม่น้ำคงคา ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที
- ห้องพักเป็นพัดลมไม่มีแอร์ แต่อากาศไม่ร้อนนะครับ กลับรู้สึกเย็นสบาย
- สภาพห้องพักถึงจะดูเก่า แต่ก็สะอาดใช้ได้ คือปกติผมเป็นภูมิแพ้จมูกจะไว แต่กลับไม่เป็นไรสำหรับที่นี่
- ห้องน้ำสะอาด มีเครื่องทำน้ำอุ่น
- ปลั๊กไฟในห้องมีน้อย อย่าลืมเตรียมหัวแปลง หรือปลั๊กพ่วงมาด้วยครับ
- สามารถให้เจ้าของ Guest House โปรแกรมทัวร์, จองเรือล่องแม่น้ำคงคา หรือจองรถแท็กซี่กลับสนามบินได้ ในราคาเพียง 700 รูปี
- มีชั้นดาดฟ้าให้นั่งชมวิว มองเห็นแม่น้ำคงคาได้ 180 องศาเลย ส่วนอีก 180 องศาเป็นตึกรามบ้านช่อง
หลังจากนำกระเป๋าไปเก็บเจ้าของ Guest House แนะนำว่า ให้รีบมาดูพิธีบูชาไฟริมแม่น้ำคงคา ถือเป็นไฮไลท์นึงที่ไม่ควรพลาด
” คงคาในความทรงจำ “
พอเดินพ้นจากปากตรอกที่มีผู้คนพลุกพล่าน กลับพบแม่น้ำคาคงอยู่ตรงหน้า เหมือนกับผมได้เปิดบทเรียนหน้าต่อไป มีผู้คนมากหน้าหลายตา แต่งตัวหลากสีสัน กลิ่นเครื่องเทศที่เป็นเอกลักษณ์ วัวศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวฮินดูนับถือ เรือในแม่น้ำ ผู้คนที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศ มารวมตัวกันเพื่อรอพิธีศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา
พิธีบูชาไฟ หรืออารตี ชาวฮินดูเชื่อว่า พิธีกรรมจะไม่สมบูรณ์ถ้าหากไม่บูชาด้วยไฟ
ในทุก ๆ วันที่นี่จะเต็มไปด้วยผู้คนมากมายจากทั่วสารทิศ และอีกไฮไลท์ที่แนะนำคือ ลงไปชมพิธีอารตีในเรือ ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มักนิยมเหมาเรือเพื่อไปนั่งดูจากแม่น้ำขึ้นมา
บทที่ 2 : นมัสเต พาราณสี
วันนี้ผมรีบตื่นแต่เช้า เรามีเวลาทั้งวันที่จะสำรวจชีวิตผู้คนริมแม่น้ำคงคา ผมออกมาเดินในซอย Bangali Tola ที่คับแคบ แต่เต็มไปด้วยผู้คน และวิถีชีวิต ซึ่งเมื่อวานผมมาถึงในช่วงค่ำฟ้าเริ่มมืดทำให้เห็นอะไรได้ไม่ค่อยชัดเจนนัก และเป้าหมายของผมในวันนี้คือ เดินในซอยที่ขนานไปกับแม่น้ำคงคา และเดินไปดูแต่ละท่าน้ำที่อยู่เรียงรายตลอดริมแม่น้ำคงคา
เส้นสีฟ้าคือเส้นทางที่ผมเดินตลอดทั้งวันครับ
วิถีชีวิตของผู้คนในซอย Bangali Tola ที่เป็นทางเดินแคบ ๆ ขนานไปกับแม่น้ำคงคา
อาชีพซ่อมรองเท้า
ขนมทอดหลากหลายชนิด มีขายตลอดทาง ราคาไม่แพง
ขอลองกินฝีมือคนอินเดียแท้ ๆ สักหน่อย
พูดถึงอาหารในย่านนี้มีร้านที่ฝากท้องได้หลายร้านมากครับ อย่างเช่นร้านนี้ อยู่ในซอยที่ติดกับ Guest House พ่อครัวจะใส่เสื้อเชิ้ต แขนยาวมานั่งรอลูกค้า พอเราเข้าไปนั่ง และสั่งอาหารก็จะถอดเสื้อตัวนอกออก เหลือแต่เสื้อกล้าม ผมกิน 2 มื้อ ก็เป็นแบบนี้ทั้งสองมื้อ ดูเก๋ดี
- เมนูแนะนำ มาซ่าล่า ไก่ และ โคม่า ไก่(แกงใส่โยเกิร์ต) อยากให้ลองครับ เฉลี่ยเมนูละประมาณ 160 รูปี
- น้ำอัดลม หรือน้ำส้ม แนะนำให้เทใส่แก้ว ไม่ควรกระดกจากขวดโดยตรง
- ร้านข้าวอยู่ติดทางเดิน คนค่อนข้างพลุกพล่าน
- และที่สังเกต ร้านที่อยู่ในตึก ผมไม่เห็นคนอินเดียเข้ามาใช้บริการเลย เห็นแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ
- ถ้าไม่รู้จะกินร้านไหนดี ง่ายที่สุดคือ เจอต่างชาตินั่ง ร้านไหน ก็เข้าไปลองร้านนั้นครับ
- ข้าวที่เสิร์ฟ มักมากับช้อนแค่คันเดียว
ครึ่งบ่ายของวันที่สอง
หลังจากกินข้าวเสร็จผมเดินเลาะมาที่แม่น้ำคงคาอีกครั้ง หาที่นั่งเหมาะๆ วางกล้องลง ให้ตัวผมหยุดนิ่ง นั่งมองผู้คนที่อยู่ข้างหน้า ดำเนินชีวิตไปอย่างช้า ๆ ราวกับเมืองนี้ไม่เคยหลับใหลตลอด 4,000 ปีที่ผ่านมา แม่น้ำคงคามีต้นกำเนิด มาจากเทือกเขาหิมาลัย ชาวฮินดูเชื่อว่าแม่น้ำคงคาได้ไหลผ่าน พระเศียร ของพระศิวะก่อนไหลลงสู่โลกมนุษย์ ทำให้แม่น้ำคงคามีความศักดิ์สิทธิ์
ผู้คนจึงมาทำกิจกรรมทุกอย่างที่แม่น้ำ เพราะเชื่อว่าจะปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และนำสิริมงคลมาสู่ตนเอง
การถ่ายรูปในเมืองพาราณสี เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ก็ควรขออนุญาตก่อน ขอทานก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน ผมจะไม่บอกว่า ควร หรือไม่ควรให้ ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์บางแห่งถ้าผมให้ ก็จะมีขอทานคนอื่นเดินตามมากันอีกหลายคน และถ้าตรงไหนปลอดคน ถ้าจะให้บ้างเพื่อต่อชีวิตคนเหล่านี้ ก็ยินดีครับ
มาถึงอีกหนึ่งไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาพาราณสี คือการล่องเรือในแม่น้ำคงคา
ตอนเตรียมข้อมูลหลายเว็บบอกว่า ไม่ควรเกิน 150 รูปี/ชั่วโมง แต่เจ้าของ Guest House บอกว่า 100 รูปี/ชั่วโมง คือราคาที่เหมาะสมไม่ควรเกินนี้
แล้วผมจ่ายไปเท่าไหร่
สารภาพเลยว่า ราคาสุดท้ายที่ผมได้คือ + ครึ่งชั่วโมง 300 รูปี + ผมบอกไม่ได้ว่าแพงหรือไม่แพง ถ้าเทียบกับเรทที่ควรจะเป็น ผมขอยกคำพูดนึงของคุณ Pipatpong ที่เคยมาเที่ยวพาราณสีไว้ก่อนหน้านี้ว่า
“ผมคิดย้อนไปเทียบกับเรือกอนโดล่าที่เวนิส ที่อัตราค่าบริการมาตรฐานอยู่ที่ 80 ยูโร / ครึ่งชั่วโมง (เกือบๆ 3,000 บาท) ผมรู้สึกโกรธตัวเองเหมือนกัน ว่าไมน่าไปต่อลุงแกเลย ตอนเวนิสราคาขนาดนั้น ผมจ่ายไปแบบไม่คิดมากมาที่นี่คิดเป็นเงินไทยแล้วโคตรถูก บรรยากาศก็ดีมาก ลุงแกก็อัธยาศัยดี ก็ยังกล้าๆ ไปต่อแกอีกเนอะ กับเงินแค่ไม่กี่สิบบาท”
หลังจากที่นั่งเรือเที่ยวในแม่น้ำคงคาเสร็จ ผมก็มุ่งหน้าไปท่าน้ำ Manikarnika Ghat เพราะมีอีกที่หนึ่งซึ่งเมื่อมาถึงพาราณสีแล้วต้องไปดูให้เห็นกับตาให้ได้ นั่นก็คือ พิธีเผาศพ ของชาวฮินดู
ถ้ารู้สึกเหงา แค่พูด Hello ให้ใครสักคน
ระหว่างทางเจอผู้หญิงนึงกำลังเดินไปทางนั้นพอดีเลยลองทักดู ผม Hello ไป เธอก็ Hello ตอบ ก็เริ่มคุยจนทราบว่า เธอเป็นนักศึกษาชาวฝรั่งเศส ทำวิจัยอยู่ที่เมืองโกกัลต้า เดินทางมาพาราณสีคนเดียว ด้วยรถไฟ ก็คุยไปเรื่อยเปื่อย จนเดินมาถึงบริเวณที่มีการเผาศพ
Manikarnika Ghat ท่าน้ำสู่สรวงสวรรค์
บันทึกจากคำบอกเล่าเล็กๆ น้อยๆ จากคนท้องถิ่นเล่าให้ผมฟัง
- ข้อแรกที่เป็นกฎเหล็กคือ การให้เกียรติ ห้ามถ่ายรูปในบริเวณพิธีโดยเด็ดขาด
- มีการเผาศพตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เคยหยุด วันหนึ่งเกินร้อยศพ
- ศพแรกไฟมอด ศพสองเตรียมฟืนต่อทันที
- ลักษณะริมตลิ่งจะเป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันลงไป
- ชั้นนึงจะเผาได้ประมาณ 5 – 10 ศพ แล้วแต่ความกว้าง
- แต่ละชั้นแบ่งตามวรรณะ
- 1 ศพ ต้องใช้ฟืน 70 กิโลกรัม ใช้เวลาเผาประมาณ 3 ชั่วโมง
- ศพที่ไม่สามารถเผาได้ ตามข้อกำหนดของศาสนาฮินดูจะห่อศพ และลอยลงในแม่น้ำคงคา เช่น เด็ก หรือคนที่ประสบอุบัติเหตุ
ผมยืนดูการเผาศพประมาณ 20 นาที ทั้งควันและเศษขี้เถ้า ตลบอบอวล ติดตามผม และเสื้อผ้า แต่ตอนนั้นผมกลับไม่รู้สึกถึงความน่ากลัวนะ เพราะด้วยความเป็นวิถีชีวิตที่ชาวฮินดูปฏิบัติกันมานับร้อย นับพันปีจนทุกอย่างดูเรียบง่าย เป็นปกติ เมื่อมีคนเสียชีวิต คนเป็นก็ช่วยประกอบศาสนพิธี ส่งร่างผู้วายชนม์ สู่สวรรค์
Nepali Temple
จากจุดเผาศพ ผมเดินลัดเลาะตามคำแนะนำของคนท้องถิ่นเพื่อมาที่วัดเนปาล ซึ่งเป็นอีกวัดที่มีความเก่าแก่ และมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ตั้งอยู่ติดแม่น้ำคงคา จะเห็นโค้งน้ำที่สวยงามได้จากจุดนี้ครับ ต้องเสียค่าเข้าชม 20 รูปี
BABA LASSI เป็นอีกร้านที่ควรมาลอง
ช่วงเย็นก่อนแยกย้ายเข้าที่พัก ชาวฝรั่งเศสชวนผมมาลองกิน Lassi ในซอย Bangali Tola ใกล้ ๆ กับ Guest House ที่ผมพัก นิดเดียวเอง มีความสนุกตรงที่จากจุดเผาศพ ก็ต้องเดินลัดเลาะตามซอยแคบ มาเรื่อย ๆ เกือบครึ่งชั่วโมง ทีแรกก็กังวลว่าร้านจะอยู่ไกล เพราะจีพีเอส ผมจับตำแหน่งไม่ค่อยได้ อ้าว แต่พอยิ่งเดิน ทางยิ่งคุ้น มาออกซอยแถว ๆ ที่พักผมนี่เอง
Lassi คือโยเกิร์ต ใส่เครื่องต่าง ๆ เช่น Apple Lassi , Mango Lassi, Lemon Lassi อย่างในมือผมคือโยเกิร์ตใส่มะนาว หรือ Lemon Lassi เสิร์ฟในถ้วยดินเผา ราคาประมาณ 70 รูปี
ในร้านจะมีผนังที่คุณสามารถติดรูปตัวเอง หรือจะฝากลายเซ็นไว้ก็ได้ เท่าที่มองดูคือมีคนเกาหลีแวะเวียนมาที่ร้านนี้เยอะมาก ก่อนที่ผมจะลุกออกไป ก็มีนักท่องเที่ยวเกาหลีกลุ่มใหญ่เข้ามาที่ร้านพอดี ฉะนั้นแล้ว แนะนำต้องมาลองให้ได้ครับ
ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน
วันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับในวันพรุ่งนี้ ผมเดินกลับไปดูพิธีอารตี ที่ริมแม่น้ำคงคาอีกรอบนึง แต่ว่าดูไม่จบก็กลับมานอนพักผ่อนเพื่อเตรียมเดินทางกลับในเช้ามืดในวันรุ่งขึ้น ผมแนะนำว่าเมื่อกลับไปถึงให้แจ้งทางโรงแรมไว้เลยครับ ว่าให้จองแท็กซี่ให้ด้วยตอนเช้า ถ้าเดินหาเองลำบากแน่นอน
บทที่ 3 : อำลาพาราณสี
ในวันสุดท้ายผมตื่นมาเตรียมตัวตี 5 อาบน้ำเก็บของให้เรียบร้อย และลงมารอรถแท็กซี่ ที่ให้เจ้าของ Guest House จองไว้ให้ตอน 6 โมงเช้า ตอนลงมาคนขับรถมารออยู่ก่อนแล้ว ใช้เวลาเดินจากที่พักไปถนนใหญ่อีกประมาณ 10 นาที วันนี้ค่อนข้างแฉะเพราะเมื่อคืน มีฝนตกลงมา แต่ทุกอย่างราบรื่นครับ คนขับรถพาผมกลับมาส่งถึงสนามบินตอน 7 โมงครึ่ง ทันเที่ยวบินตอน 10 โมง 15 นาที
- ถ้าเทียบจากเวลาที่ผมมาถึง ออกจากโรงแรมประมาณ 7 โมงครึ่งก็ทันครับ
- ตอนเช้ารถติดมาก ถนนในเมืองค่อนข้างเล็กครับ ทำให้รถวิ่งลำบาก
- ตอนเช้ามาหาอะไรกินที่สนามบินก็ได้ครับ ราคาไม่แพงมาก
Self Check In
ถ้าไม่มีสัมภาระโหลดสามารถพิมพ์ Boarding Pass ที่เครื่องนี้เดินผ่าน Security ได้เลย หรือจะไป Check In ที่เคาน์เตอร์ กับเจ้าหน้าที่ก็ได้เช่นกัน
- ถ้าใช้ E-Boarding Pass ที่เป็น QR Code เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จะให้เราเดินกลับออกไป รับตั๋วกระดาษที่เครื่อง Self Service หรือกับเจ้าหน้าที่ ที่เคาน์เตอร์เช็คอินเท่านั้นนะครับ****
- เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยจำเป็นต้องประทับตราลงบน Boarding Pass เท่านั้น
Terminal 3 Check-in Row A
สำหรับเคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบิน Jet Airways อยู่ที Row A และ Row B ครับ
- Row A สำหรับเที่ยวบิน ต่างประเทศ(International)
- Row B สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ (Domestic)
Food Court บริเวณชั้นลอย
Surya The Resplendent One
Bye bye India
ขากลับเดินทางด้วยเที่ยวบิน 9W66 Delhi-Bangkok ออกเดินทางเวลา 13:55 มาถึง กรุงเทพประมาณ 2 ทุ่มครับ ขากลับหลังจากทานอาหารเสร็จ ก็หลับยาวจนถึงกทม. เลย
ในขากลับผมนั่งทางด้านขวา ติดตามเส้นทางจาก Jet Screen ที่มีให้บริการบนเครื่อง ไม่นานเมืองพาราณสีทั้งเมืองปรากฎอยู่ตรงหน้า ผ่านหน้าต่าง บานเล็กๆ
Prepare for Landing
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ ไปเที่ยวกันมั้ย by Penguint และสายการบิน Jet Airways ที่มอบประสบการณ์เดินทางที่มีค่าในครั้งนี้ครับ
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม